การสร้างบรรยากาศการอ่าน

ป้ายกำกับ: ,

การสร้างบรรยากาศการอ่าน
     บรรยากาศและสภาพแวดล้อมมีผลต่อพัฒนาการของเด็กและเยาวชน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านและกระตุ้นความสนใจอ่านจึงมีผลต่อการส่งเสริมการอ่านของเด็กและเยาวชนอย่างยิ่ง ซึ่งมีการดำเนินการได้หลายวิธีดังตัวอย่างต่อไปนี้
     เทศกาลหนังสือหรือเทศกาลการอ่านของเยาวชน การสร้างบรรยากาศการอ่านแก่เยาวชนในขอบเขตกว้างลักษณะหนึ่ง คือ การจัดเทศกาลอ่านหนังสือเฉพาะแนวหรือเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เช่น “โครงการเยาวชนอ่านหนังสือ” หรือ “หนังสือสำหรับเยาวชน” โครงการเหล่านี้มีการนำเสนอหนังสือและสื่อการอ่านต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการอ่านต่าง ๆ ซึ่งจะกระตุ้นให้เยาวชนเกิดความสนใจหนังสือและการอ่าน


     การจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับหนังสือ เป็นการแนะนำหนังสือที่ดีหรือเหมาะสมกับเยาวชนเฉพาะกลุ่มเพื่อให้เด็กเกิดความสนใจอ่าน ตัวอย่าง สิ่งพิมพ์แนะนำหนังสือ เช่น “Books for Keeps”  ของประเทศอังกฤษ หรือ “เล่มนี้สิน่าอ่าน” และ 500 เล่มหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชนไทย เป็นต้น


     ร้านหนังสือในโรงเรียน ร้านหนังสือในโรงเรียนสามารถสร้างบรรยากาศการอ่านและมีส่วนส่งเสริมการอ่านแก่เยาวชนหลายลักษณะ ได้แก่ สร้างนิสัยการซื้อหนังสือซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเด็กให้เป็นนักอ่านและแก้ปัญหาไม่ชอบหนังสือหรือมีหนังสือที่ไม่ตรงกับความสนใจทำให้เด็ก ๆ รู้ถึงความสุขแห่งการเลือก การซื้อและการเป็นเจ้าของหนังสือของตนเอง เปิดโอกาสให้เด็กสัมผัสหนังสือหลายประเภท ซึ่งโดยปกติอาจไม่ได้พบ ร้านหนังสือในโรงเรียนที่จะสามารถดึงดูดความสนใจของเยาวชนต้องจัดชั้นหนังสืออย่างน่าสนใจสำหรับเยาวชน มีการจัดแสดงหนังสือและการส่งเสริมการอ่าน มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความรู้เกี่ยวกับหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน และมีคู่มือเข้าถึงหนังสือต่าง ๆ อย่างดี
     มุมหนังสือในบ้าน หมายถึง การจัดให้มีหนังสือและสื่อการอ่านรูปแบบต่าง ๆ ไว้ในส่วนต่าง ๆ ของบ้านหรือที่พักอาศัย ซึ่งเยาวชนสามารถมองเห็นและเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นการกระตุ้นความสนใจและสนองความต้องการรู้ตามธรรมชาติของเยาวชน
     ห้องสมุดบ้าน  ในบางท้องถิ่นที่ไม่มีระบบห้องสมุดประชาชนที่ดี อาจจัดตั้งห้องสมุดขนาดเล็กในบ้านของสมาชิกในหมู่บ้าน มีอาสาสมัครซึ่งอาจเป็นแม่บ้าน หรือเยาวชนดูแลและให้บริการ เช่น
ห้องสมุดบ้านในประเทศซิมบับเว ในอัฟริกา และบุงโกะ (bunko) ในประเทศญี่ปุ่น ห้องสมุด  เหล่านี้มีความมุ่งหมายเพื่อดึงผู้ใหญ่และเด็กในชุมชนเข้ามาพบกัน ร่วมประสบการณ์หนังสือเด็กในชุมชน และส่งเสริมการอ่านโดยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเล่านิทาน การแสดงละคร และการสนทนา

อ้างอิง
สุพรรณี วราทรกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับเยาวชนก่อนวัยรุ่น2549.โครงการวิจัยเรื่องกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับเยาวชนก่อนวัยรุ่น, หน้า 21-22.

0 ความคิดเห็น: